
Digital Marketing
รู้ "ศัพท์ Web" เพื่อ Set Goal
Posted On 08 / 11 / 2018 Naruemon Kongchuensin
เมื่อคุณอยากไดรฟ์ธุรกิจให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ด้วยการสร้างเว็บไซต์ดี ๆ สักเว็บ มาช่วยดึง "กลุ่มเป้าหมายที่ใช่" และมาเป็น “ลูกค้า” ในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่า การที่จะ Set Goal ที่ดีและชัดเจนนั้น อาจต้องมีกึ๋นในการทำความเข้าใจกับอะไรหลาย ๆ อย่างบนเว็บไซต์กันหน่อยเพื่อให้ชีวิตคุณง่ายขึ้น แล้วก็ยังช่วยหาคำตอบที่ว่า "เมื่อไหร่? ที่คุณต้องทำอะไร? เพื่อปิดการขายกับลูกค้าได้อย่างราบรื่น" การทำความรู้จักกับ ศัพท์ Web จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่คุณจะต้องโฟกัสเป็นเรื่องแรก ๆ ก่อนที่จะเดินหน้าวิเคราะห์การตลาดในเชิงลึกในสเต็ปต่อไปได้หลากหลายมิติมากขึ้น เพื่อเข้าใจ Business Requirement ที่เหมาะสมก่อนการตั้งงบประมาณในขั้นตอนถัดไป
ถึงเวลาเปิดตัว "ศัพท์ Web" กับภารกิจและหน้าที่สำคัญของคำศัพท์แต่ละคำ เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ของคุณ Set Goalได้แบบรวดเร็ว
Business Requirement
Persona
หนึ่งคำศัพท์ที่เจ้าของแบรนด์อย่างคุณต้องรู้เลยก็คือ "Persona" บางคนอาจเรียกว่า Buyer Persona ซึ่งก็คือความหมายเดียวกันเลย Persona เป็นวิธีการในการวิจัยกลุ่มผู้ใช้หรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพื่อให้เจ้าของแบรนด์ธุรกิจรวมไปถึงทีมงานที่เกี่ยวข้อง เข้าใจตรงกันว่ากลุ่มเป้าหมายที่วางไว้นั้น มีลักษณะอย่างไร "พูดง่าย ๆ ก็คือว่าทำให้เห็นภาพลูกค้ามากขึ้นนั่นเอง" การสร้าง Persona ก็เพื่อให้คุณทำความรู้จักกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความชอบ พฤติกรรม หรือความต้องการที่คาดหวัง โดยก่อนที่คุณจะได้ Persona มานั้นไม่ใช่การตั้งสมมติฐานหรือมโนเอาเองแบบความน่าจะเป็น แต่คุณจะต้องทำการสัมภาษณ์ พูดคุยกับกลุ่มลูกค้าผู้ใช้สินค้า เพื่อจะทำให้รู้ว่ามีสิ่งไหนที่โดนใจและสิ่งไหนที่โดนเท
Persona จะทำให้คุณรู้ข้อมูล 4 เรื่องหลัก นั่นก็คือ Demographic Behavior Needs และ Goal ที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ในการใช้สินค้าของคุณ
Site Structure
สิ่งนี้คือโครงสร้างเว็บไซต์ ทำขึ้นเพื่อลำดับเนื้อหา จัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ที่ควรจะอยู่บนหน้าเว็บ จัดแจงรายละเอียด กรุ๊ปตามหมวดหมู่เพื่อให้เห็นภาพรวมของเว็บที่จะออกมาเป็นรูปเป็นร่าง คุณจะเห็นภาพได้ง่ายขึ้นเมื่อคุณรู้ว่ามีอะไรอยู่ตรงไหนในเว็บไซต์ของคุณ อารมณ์เหมือนกับการเขียนแบบบ้านขึ้นมาก่อนลงเสาเข็มจริง Site Structure จะช่วยให้คุณออกแบบระบบเนวิเกชั่นได้เหมาะสม มีแนวทางการทำงานที่ชัดเจนสำหรับขั้นตอนต่อ ๆ ไป
Wire Frame
เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น คุณต้องนึกถึง "ภาพสเก็ต" หรือภาพร่างนั่นแหละ เพียงแต่ว่าสิ่งนี้คือภาพร่างของเว็บไซต์ หน้าที่หลัก ๆ ของ "Wire Frame" นั้น เพื่อสื่อสารและอธิบายว่าแต่ละส่วนที่อยู่ในหน้าเว็บไซต์ จะต้องมีอะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ข้อความ รูปภาพ ไอคอนหรือ Call-To-Action จะวางไว้แบบไหนดี เพื่อให้คนที่คลิกเข้ามาอ่านในหน้าเว็บเข้าใจและไม่สับสน และเดินไปตามสเต็ปที่ควรจะเป็นในหน้านั้น ๆ Wire Frame เลยเหมือนกับตัวกลางที่ทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน แบบที่สามารถแก้ไขได้ก่อนจะเดินหน้าไปสู่ขั้นตอนต่อไปได้นั่นเอง
UX / UI
User Experience / User Interface
หลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่า UX และ UI แต่ไม่รู้ว่าทั้งสองคำนี้มีความหมายต่างกันอย่างไร ซึ่งเราจะอธิบายไปพร้อม ๆ กันเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น
UX หรือ User Experience ก็คือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ใช้สินค้าได้ทำการทดลองใช้จริง หรือจากการบอกต่อพูดคุย สำหรับในเว็บไซต์แล้ว คำนี้เป็นคำที่โฟกัสความสำคัญไปที่ User โดยเฉพาะ ซึ่งสำคัญมากกับการทำ Marketing ในปัจจุบัน ผู้ใช้มีตัวเลือกมากมายที่จะใช้สินค้าหรือบริการใด ๆ ก็ได้ ถ้าแบรนด์ของคุณไม่ดีพอสำหรับเขา รับรองว่าจะไปแบบไม่มีเยื่อใยกันเลยทีเดียว เพราะแบบนี้นี่แหละ
"UX ถึงมีความหมายในเชิงการศึกษาเรียนรู้และเข้าใจกลุ่ม User
เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่ตรงใจที่สุดสู่การสร้าง Brand Loyalty ในอนาคต"
UI หรือ Interface ไม่ใช่ประสบการณ์แบบนามธรรม หรือเชิงความรู้สึกของ User แบบ UX แต่จะเป็นสิ่งที่พวกเขาได้สัมผัสในรูปแบบที่จับต้องได้ เป็นส่วนผสานกับผู้ใช้งาน เช่นปุ่มกด ช่องกรอกข้อความต่าง ๆ หรือรูปภาพที่แสดงผลได้ ผ่านแพลทฟอร์มต่าง ๆ เช่น Mobile หรือ Website ซึ่งถ้าถามถึงความแตกต่างระหว่าง UX กับ UI อธิบายแบบง่าย ๆ เลยก็คือ UX สร้างสิ่งที่มีประโยชน์ตอบโจทย์ผู้ใช้ ในขณะที่ UI สร้างให้เห็นความเป็นรูปเป็นร่างสวยงามขึ้นมานั่นเอง
CMS
Content Management System
CMS หรือ Content Management System คือ "ระบบหลังบ้าน" จัดการข้อมูลเนื้อหาในเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชัน เป็นจุดหยอดข้อมูลต่าง ๆ ลงไปให้จัดการหน้าเว็บได้ง่ายขึ้น เหมือนว่า CMS เกิดมาเพื่อช่วยลดความยุ่งยาก ลดทรัพยากรในการพัฒนาเว็บไซต์ ช่วยประหยัดเวลาและ Save Cost ให้เจ้าของเว็บใจชื้น ปัจจุบันผู้ใช้งาน CMS จะเลือกใช้ระบบ Open Source ที่สามารถนำมาพัฒนาต่อไปฟรีอย่างเช่น WordPress ฯลฯ
Landing Page
ถ้า CMS คือ ระบบหลังบ้าน Landing Page คือหน้าบ้าน ที่เป็นอีกหนึ่งในประสบการณ์สำคัญของแบรนด์คุณเลยทีเดียว เป็นหน้าที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการทำ Marketing รุ่นใหม่ โดยเฉพาะการทำ Inbound Marketing ถามว่า Landing Page สำคัญขนาดไหน? คำตอบก็คือว่า ถ้าคุณมีจุดประสงค์ในการทำเว็บไซต์เพื่อเก็บข้อมูลบางอย่างของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย หรือต้องการให้เขาทำอะไรบางอย่างจากสิ่งที่คุณนำเสนอ Landing Page คือคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับคุณในข้อนี้เลย ซึ่งโดยปกติแล้ววัตถุประสงค์หลัก ๆ เช่น การสร้างเป็นหน้าแคมเปญเพื่อต้องการให้คนมา Register หรือเป็นหน้ากรอกข้อมูลที่ต้องการ ฯลฯ Landing Page คือส่วนสำคัญที่จะนำพาลูกค้าเดินทางไปถึงจุดที่คุณต้องการ สำคัญขนาดนี้คิดว่าไม่น่าพลาดสำหรับเว็บคุณนะ
SEO
Search Engine Optimization
อีกหนึ่งศัพท์เว็บที่สื่อสารกันบ่อยมาก ๆ ก็ต้องคำนี้เลย “SEO” สิ่งนี้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดมาแรงแซงโค้งที่ทุกธุรกิจให้ความสนใจ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ User สามารถค้นหาแบรนด์สินค้าได้ง่ายขึ้นจากการเสิร์ช เพิ่มโอกาสในการขายสู่ความสำเร็จที่น่าพอใจ ซึ่งสิ่งที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ SEO ก็คือเรื่องของ Keyword จำเป็นที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะทำการเสิร์ชแล้วเจอคุณในอันดับต้น ๆ บน Google “ค้นหาง่าย เข้าถึงเร็ว” แบบนี้ก็จบสวย
ทำความรู้จักให้คุ้นเคยกับ “ศัพท์ Web” เหล่านี้แล้วชีวิตจะดีงามลามไปถึงธุรกิจที่งอกงามเช่นเดียวกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วยังมีบรรดาคำศัพท์ที่คุณต้องทำความเข้าใจอีกมากมาย ถึงจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ถ้าคุณใส่ใจกับมัน ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของชัยชนะทางธุรกิจที่ให้คุณพบกับคำว่า Success ก่อนใคร ๆ
Conclusion : ทำความรู้จักกับ “ศัพท์ Web” พื้นฐานเพื่อให้เข้าใจหน้าที่และความสำคัญ ขับเคลื่อนให้เกิดความสำเร็จให้กับธุรกิจของคุณ ยิ่งรู้มากยิ่งได้เปรียบและถึงเป้าหมายได้ไวกว่าคนอื่น